ประวัติ

ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทย

             ดนตรีไทย เป็นมรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไทย และเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงถึงเอกลักณ์ความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์แบบ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการดนตรีของไทยมีการพัฒนาไปตามสภาพแวดล้อม สังคม และค่านิยมของผู้คนในแต่ละสมัย โดยในระยะเริ่มแรกมีการรับวัฒนธรรมดนตรีของชนชาติอื่นเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดนตรีไทย จุดประสงค์เพื่อใช้ในงานพระราชประเพณีซึ่งมีศาสนาเป็นตัวเชื่อม และมีวังเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดมาสู่ประชาชน
การศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของไทยนอกจากจะได้ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติแล้ว เรายังได้ทราบถึงแนวคิดในการสร้างงานดนตรีที่เกิดขึ้นและเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ผลงานในอดีต รวมทั้งการคาดเดาถึงแนวโน้มของดนตรีไทยในอนาคตด้วยการแบ่งประวัติศาสตร์ดนตรีไทยออกเป็นสมัยๆ ก็เพื่อสะดวกในการกล่าวถึง โดยประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยสามารถแบ่งออกเป็นสมัยต่างๆ ดังนี้


สมัยสุโขทัย (ราว พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๐๐)
                ในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีนับเป็นสมัยการเริ่มต้นของประวัตศาสตร์ไทย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงคิดประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น และได้จารึกเรื่องราวต่างๆ ลงในหลักศิลาจารึก และจากหลักศิลาจารึกนี้เองที่ทำให้เราได้ทราบถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยได้เป็นอย่างดี ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า เสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อนเสียงขับซึ่งแสดงให้เห็นว่าในสมัยสุโขทัยได้มีการนำดนตรีมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ จนต้องบันทึกไว้ในหลักศิลา และในหลักศิลาจารึกในสมัยสุโขทัยยังกล่าวถึงเครื่องดนตรีไว้มากมาย เช่น พิณ(อาจหมายถึง กระจับปี่ หรือพิณน้ำเต้า) ฆ้องระฆัง กังสดาล มโหระทึก กลองใหญ่ กลองรวมกลองเล็ก ฉิ่ง วงดนตรีที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ได้แก่
๑. วงขับไม้ ประกอบด้วย ซอสามสาย บัณเฑาะว์ และคนขับร้อง




๒. วงปี่พาทย์ ประกอบด้วย ปี่ ระนาด ฆ้องวง กลองสองหน้า และฉิ่ง


๓. วงประโคม แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
    ๓.๑ วงประโคมในงานเสด็จออกขุนนาง และในการเสด็จพระราชดำเนินกระบวนน้อย ประกอบด้วย แตร และกลองมโหระทึก

     ๓.๒ วงประโคมในงานเสด็จพระราชดำเนินในขบวนพยุหยาตรา เรียกว่า แตรสังข์กลองชนะประกอบด้วย สังข์ แตรงอน ปี่ชวา กลองเปิงมางหรือสองหน้า และกลองชนะ


สมัยอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐)
ดนตรีไทยในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่ยังคงได้รับอิทธิพลมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย แต่ได้มีการพัฒนาซึ่งพบว่ามีเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นหลายชนิด ทำให้เครื่องดนตรีในสมัยอยุธยานี้มีครบทุกประเภทคือ ดีด สี ตี เป่า เช่น กระจับปี่ จะเข้ พิณน้ำเต้า ซอต่างๆ กรับคู่ กรับเสภา ระนาดเอก ฆ้อง โทน กลองทัด ปี่ใน ขลุ่ย แตรงอน แตรสังข์
                วงปี่พาทย์ในสมัยอยุธยา ยังคงเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างเบา เพื่อใช้สำหรับประกอบการแสดงละครมโนราห์ หรือละครชาตรีของชาวใต้ และวงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนักสำหรับบรรเลงประกอบการแสดงละครนอกและละครใน ซึ่งเดิมนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างเบา ต่อมาละครนอกและละครในนี้ต้องบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ และเพลงร้องที่มีท่วงทำนองรวดเร็วตามเรื่องราว จึงต้องเปลี่ยนจากปี่พาทย์อย่างเบา เป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนัก และด้วยความเจริญทางด้านดนตรีไทยในสมัยนี้จึงทำให้ชาวบ้านนิยมเล่นดนตรีกันมาก จนกระทั่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) ต้องประกาศกฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามร้องเพลงเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดกระจับปี ดีดจะเข้ ตีโทนทับในเขตพระราชฐาน
                บทเพลงมีทั้งเพลงขับร้องและเพลงบรรเลง บทร้องเป็นเพลงกาพย์คล้ายบทกลอนกล่อมเด็กต่อมาพัฒนาเป็นบทดอกสร้อย และกลอนแปด มีการเล่านิทาน หรือเล่าเรื่องที่เรียกว่า การขับเสภาส่วนบทเพลงบรรเลงมีทั้งเพลงเกร็ด เพลงเรื่อง เพลงหน้าพาทย์ เพลงภาษา ซึ่งอัตราจังหวะส่วนใหญ่เป็นอัตราจังหวะสองชั้น
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 




หลังจากบ้านเมืองได้ผ่านพ้นจากภาวะศึกสงครามและได้มีการก่อสร้างเมืองให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น เกิดความ สงบร่มเย็น โดยทั่วไปแล้ว ศิลป วัฒนธรรม ของชาติ ก็ได้รับการฟื้นฟูทะนุบำรุง และส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยเฉพาะ ทางด้าน ดนตรีไทย ในสมัยนี้ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเจริญขึ้นเป็นลำดับ
สมัยรัชกาลที่ 1  




 ในสมัยนี้ดนตรีไทยส่วนใหญ่ยังคงมีลักษณะรูปแบบตามที่มีมาตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พัฒนาขึ้นบ้างในสมัยนี้ก็คือ การเพิ่ม กลองทัด ขึ้นอีก 1 ลูก ใน วงปี่พาทย์ ซึ่ง แต่เดิมมา มีแค่ 1 ลูก รวม มี กลองทัด 2 ลูก มีเสียงสูง (ตัวผู้) ลูกหนึ่ง และ เสียงต่ำ (ตัวเมีย) ลูกหนึ่ง และการใช้ กลองทัด 2 ลูก ในวงปี่พาทย์นี้ ก็เป็นที่นิยมกันมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้


สมัยรัชกาลที่ 2 



ในสมัยนี้เป็นยุคทองของ ดนตรีไทย ยุคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะ องค์พระมหากษัตริย์ ทรงสนพระทัย ดนตรีไทย เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ ในทาง ดนตรีไทย ถึงขนาดที่ ทรงดนตรีไทย คือ ซอสามสาย ได้ มีซอคู่พระหัตถ์ชื่อว่า "ซอสายฟ้าฟาด"  


สมัยรัชกาลที่ 3  
 วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้ม มาคู่กับระนาดเอก และประดิษฐ์ฆ้องวงเล็กมาคู่กับ ฆ้องวงใหญ่


สมัยรัชกาลที่ 4  



วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ เครื่องดนตรี เพิ่มขึ้นอีก 2 ชนิด เลียนแบบ ระนาดเอก และระนาดทุ้ม โดยใช้โลหะทำลูกระนาด และทำรางระนาดให้แตกต่างไปจากรางระนาดเอก และระนาดทุ้ม (ไม้) เรียกว่า ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก นำมาบรรเลงเพิ่มในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ ทำให้ ขนาดของ วงปี่พาทย์ขยายใหญ่ขึ้นจึงเรียกว่า วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ อนึ่งในสมัยนี้ วงการดนตรีไทย นิยมการร้องเพลงส่งให้ดนตรีรับ หรือที่เรียกว่า "การร้องส่ง" กันมากจนกระทั่ง การขับเสภาซึ่งเคยนิยมกันมาก่อนค่อย ๆ หายไป และการร้องส่งก็เป็นแนวทางให้มีผู้คิดแต่งขยายเพลง 2ชั้นของเดิมให้เป็นเพลง 3 ชั้น และตัดลง เป็นชั้นเดียว จนกระทั่งกลายเป็นเพลงเถาในที่สุด (นับว่าเพลงเถาเกิดขึ้นมากมายในสมัยนี้) นอกจากนี้ วงเครื่องสาย ก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน

สมัยรัชกาลที่ 5  



ได้มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นใหม่ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า "วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์" โดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์สำหรับใช้บรรเลงประกอบการแสดง "ละครดึกดำบรรพ์" ซึ่งเป็น ละครที่เพิ่งปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน หลักการปรับปรุงของท่านก็โดยการตัดเครื่องดนตรีชนิดเสียงเล็กแหลม หรือดังเกินไปออก คงไว้แต่เครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้ม นุ่มนวล กับเพิ่มเครื่องดนตรีบางอย่างเข้ามาใหม่ เครื่องดนตรี ในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จึงประกอบด้วยระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ขลุ่ย ซออู้ ฆ้องหุ่ย (ฆ้อง 7ใบ) ตะโพน กลองตะโพน และเครื่องกำกับจังหวะ

สมัยรัชกาลที่ 6  



ได้มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง โดยนำวงดนตรีของมอญมาผสมกับ วงปี่พาทย์ของไทย ต่อมาเรียกวงดนตรีผสมนี้ว่า "วงปี่พาทย์มอญ" โดยหลวงประดิษฐไพเราะ         (ศร ศิลปบรรเลง)เป็นผู้ปรับปรุงขึ้น วงปี่พาทย์มอญดังกล่าวนี้ ก็มีทั้งวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ เช่นเดียวกับวงปี่พาทย์ของไทย และกลายเป็นที่นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ มาจนกระทั่งบัดนี้ นอกจากนี้ยังได้มี การนำเครื่องดนตรีของต่างชาติ เข้ามาบรรเลงผสมกับ วงดนตรีไทย บางชนิดก็นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องดนตรีของไทย ทำให้รูปแบบของ วงดนตรีไทย เปลี่ยนแปลงพัฒนา ดังนี้ คือ การนำเครื่องดนตรีของชวา หรืออินโดนีเซีย คือ "อังกะลุง" มาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก โดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทั้งนี้โดยนำมาดัดแปลง ปรับปรุงขึ้นใหม่ให้มีเสียงครบ 7 เสียง (เดิมมี 5 เสียง) ปรับปรุงวิธีการเล่น โดยถือเขย่าคนละ 2 เสียง ทำให้เครื่องดนตรีชนิดนี้ กลายเป็นเครื่องดนตรีไทยอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนไทยสามารถทำอังกะลุงได้เอง อีกทั้งวิธีการบรรเลงก็เป็นแบบเฉพาะของเรา แตกต่างไปจากของชวาโดยสิ้นเชิง การนำเครื่องดนตรีของต่างชาติเข้ามาบรรเลงผสมในวงเครื่องสาย ได้แก่ ขิมของจีน และออร์แกนของฝรั่ง ทำให้วงเครื่องสายพัฒนารูปแบบของวงไปอีกลักษณะหนึ่ง คือ "วงเครื่องสายผสม"


สมัยรัชกาลที่ 7
          


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสนพระทัยทางด้าน ดนตรีไทย มากเช่นกัน พระองค์ได้พระราชนิพนธ์ เพลงไทยที่ไพเราะไว้ถึง 3 เพลง คือ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง 3 ชั้น เพลงเขมรลอยองค์ (เถา) และเพลงราตรีประดับดาว (เถา) พระองค์และพระราชินีได้โปรดให้ครูดนตรีเข้าไปถวายการสอนดนตรีในวัง แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ระยะเวลาแห่งการครองราชย์ของพระองค์ไม่นาน เนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และพระองค์ทรงสละราชบัลลังก์ หลังจากนั้นได้ 2 ปี มิฉะนั้นแล้ว ดนตรีไทย ก็คงจะเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยแห่งพระองค์ อย่างไรก็ตามดนตรีไทยในสมัยรัชกาลนี้ นับว่าได้พัฒนารูปแบบ และลักษณะ มาจนกระทั่ง สมบูรณ์ เป็นแบบแผนดังเช่น ในปัจจุบันนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ในสมัยที่ปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมีผู้นิยม ดนตรีไทยกันมากและมีผู้มีฝีมือทางดนตรี ตลอดจนมีความคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้พัฒนาก้าวหน้ามาตามลำดับ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ ได้ให้ความอุปถัมภ์ และทำนุบำรุงดนตรีไทยในวังต่างๆ มักจะมีวงดนตรีประจำวัง เช่น วงวังบูรพา วงวังบางขุนพรหม วงวังบางคอแหลม และวงวังปลายเนิน แต่ละวงต่างก็ขวนขวายหาครูดนตรีนักดนตรีที่มีฝีมือเข้ามาประจำวง มีการฝึกซ้อมกันอยู่เนืองนิจ บางครั้งก็มีการประกวดประชันกัน จึงทำให้ดนตรีไทยเจริญเฟื่องฟูมาก ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ดนตรีไทยเริ่มซบเซาลง อาจกล่าวได้ว่า เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ ดนตรีไทย เกือบจะถึงจุดจบ เนื่องจากรัฐบาลในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายทีเรียกว่า "รัฐนิยม" ซึ่งนโยบายนี้ มีผลกระทบต่อ ดนตรีไทย ด้วย กล่าวคือมีการห้ามบรรเลงดนตรีไทย เพราะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ใครจะจัดให้มีการบรรเลง ดนตรีไทย ต้องขออนุญาต จากทางราชการก่อน อีกทั้ง นักดนตรีไทยก็จะต้องมีบัตรนักดนตรีที่ ทางราชการออกให้
จนกระทั่งต่อมาอีกหลายปี เมื่อได้มี การสั่งยกเลิก "รัฐนิยม" ดังกล่าวเสีย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ดนตรีไทย ก็ไม่รุ่งเรืองเท่าแต่ก่อน ยังล้มลุกคลุกคลาน มาจนกระทั่งบัดนี้ เนื่องจากวิถีชีวิต และสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมวัฒนธรรมทางดนตรีของต่างชาติ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยเป็นอันมาก ดนตรีที่เราได้ยินได้ฟัง และได้เห็นกันทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือที่บรรเลงตามงานต่าง ๆ โดยมากก็เป็นดนตรีของต่างชาติ หาใช่ "เสียงพาทย์ เสียงพิณ" ดังแต่ก่อนไม่

 สมัยรัชกาลที่ 8

พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ มิถุนายน .. 2489  ห้องพระบรรทมพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง

 สมัยรัชกาลที่ 9

ด้วยพระองค์ได้ทรงเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีสากลในแนวดนตรีแจ๊สเป็นพิเศษ แต่ก็มิได้ละทิ้งแขนงดนตรีไทย ทรงให้การอุปถัมป์วงการดนตรีไทยเรื่อยมา พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง ทรงเชี่ยวชาญรอบรู้เรื่องดนตรีเป็นอย่างดีและทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คราริเน็ต ทรัมเป็ต กีตาร์และเปียโน โปรดดนตรีแจ๊สเป็นอย่างมาก และพระองค์ได้พระราชนิพนธ์เพลงที่มีความหมายและไพเราะหลายเพลงด้วยกัน เช่น เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน เป็นเพลงแรก สายฝน ยามเย็น ใกล้รุ่ง ลมหนาว ยิ้มสู้ ค่ำแล้ว ไกลกังวล ความฝันอันสูงสุด และเราสู้ หรือจะเป็นพรปีใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชปรีชาญาณในเรื่องของดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี เพลง คือ "Echo", "Still on My Mind", "Old-Fashioned Melody", "No Moonและ "Dream Island"นอกจากนี้ มีเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว คือ ความฝันอันสูงสุด เราสู้ และ รัก

 ผู้ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์มีหลายท่าน ได้แก่ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริจักรพันธุ์,ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณทองใหญ่  อยุธยาศาสตราจารย์  ดร.ประเสริฐ  นคร,ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล  อยุธยานายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์),...เสนีย์ ปราโมช ..ประพันธ์สนิทวงศ์ และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคเป็นต้น
  ในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงสุนทราภรณ์ เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
        ในระยะหลังพระองค์มีพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้พระองค์ทรงไม่มีเวลาที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ๆออกมา เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาคือเพลง "เมนูไข่เป็นเพลงแนวสนุกสนาน เนื้อร้องโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษาแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เมื่อ .. 2538 


โดยสรุปใจความสำคัญ

 จากสมัยสุโขทัยสืบต่อมาสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ดนตรีไทยจัดเป็นดนตรีที่มีแบบแผนหรือดนตรีคลาสสิก (Classic Music) เครื่องดนตรีไทยนั้นกรมศิลปากร จำแนกไว้รวมทั้งสิ้น 56 ชนิด ประกอบด้วยเครื่องตี เครื่องเป่า เครื่องดีด และเครื่องสี เครื่องดนตรีไทยที่นิยมใช้กันมาก ดังนี้

เครื่องดีด ได้แก่ พิณน้ำเต้า พิณ เพ้ย กระจับปี่ ซึง จะเข้
เครื่องสี ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ ซอสามสาย ซอล้อ
เครื่องตีประเภทไม้ ได้แก่ เกราะ โกร่ง กรับ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ ได้แก่ ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง ฆ้อง หุ่ย และเครื่องตีที่ทำด้วยหนัง ได้แก่ กลองทุกประเภท
เครื่องเป่า ได้แก่ ขลุ่ย ปี่ แคน แตร สังข์ เป็นต้น




















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น